ยับยั้งการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 14 กม.

ยับยั้งการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 14 กม.
ทำไมแคมเปญรณรงค์นี้ถึงมีความสำคัญ

-- ขอให้หยุดโครงการสำรวจออกแบบและจัดทำแผนแม่บท เพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะเป็นโครงการที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน --
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เห็นชอบการดำเนินงานตามกรอบระยะเวลา (Time Frame) ของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (โครงการฯ) และได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยศึกษาความเหมาะสม พร้อมทั้งจัดทำรายละเอียดการออกแบบและก่อสร้าง เพื่อกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินงาน โดยจัดทำเป็นแผนการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในการนี้กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ทำการสำรวจออกแบบรายละเอียดโครงการฯ ช่วงจากสะพานพระราม ๗ ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ให้สามารถก่อสร้างให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่อื่นๆ ต่อไปในอนาคต ต่อมากรุงเทพมหานครได้จัดทำโครงการจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นที่ปรึกษาสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บท เพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานคร ช่วงจากสะพานพระราม ๗ ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ แล้ว แต่ปรากฏว่ากรุงเทพมหานครและที่ปรึกษาฯได้ดำเนินโครงการสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน จนก่อให้เกิดข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบและข้อทักท้วงต่อกระบวนการดำเนินโครงการ
สมัชชาแม่น้ำ ( River Assembly) ซึ่งประกอบไปด้วยเครือข่ายต่างๆ ได้แก่ เครือข่ายนักวิชาการ ประชาชน เครือข่ายชุมชน เครือข่ายการพัฒนาลุ่มน้ำ เครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม เครือข่ายภาคเอกชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม ดังมีรายชื่อตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๒. อาศัยสิทธิตามที่ได้รับความคุ้มครองโดยบทบัญญัติมาตรา ๔ ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ เครือข่ายฯได้ทำหนังสือลงวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๕๙ ยื่นต่อกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๙ เพื่อขอให้ปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดการศึกษาและกระบวนการดำเนินงานโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนก่อน แต่นับถึงปัจจุบันนี้ระยะเวลาได้ล่วงเลยมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว เครือข่ายฯยังมิได้รับหนังสือชี้แจงจากกรุงเทพมหานครแต่ประการใด ในขณะที่กรุงเทพมหานครก็ยังคงดำเนินโครงการสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาโดยขาดการเปิดเผยข้อมูลเพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ดังนั้น หากกรุงเทพมหานครยังคงดำเนินโครงการฯ ภายใต้ข้อกำหนดโครงการในลักษณะดังกล่าวต่อไป ซึ่งมีข้อท้วงติงความไม่เหมาะสมของข้อกำหนดโครงการที่มีการกำหนดโจทย์การออกแบบทางวิศวกรรม ภูมิสถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไว้ก่อน โดยที่แผนแม่บทยังไม่มีการจัดทำแล้วเสร็จ ซึ่งTOR กำหนดให้มีการจัดทำทางเดินและทางจักรยานเลียบแม่น้ำ โดยใช้พื้นที่แม่น้ำ และมีขนาด ความมั่นคงที่สามารถรองรับการขนส่งสาธารณะแบบไร้เครื่องยนต์และรถยนต์ได้ รวมทั้งมีการกำหนดให้มีการก่อสร้างเขื่อน การพัฒนาพื้นที่ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นการกำหนดโจทย์โครงการดำเนินการไว้ก่อนการจัดทำแผนแม่บท ประชาชน ชุมชนไม่มีโอกาสได้รับข้อมูลเพื่อให้ความเห็น และอาจนำมาสู่ความขัดแย้งและผลกระทบจากการดำเนินการที่ผิดขั้นตอน อีกทั้งยังเป็นการกระทบต่อสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ ให้การคุ้มครองไว้ และจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพอนามัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพื้นที่ที่เป็นมรดกวัฒนธรรม พื้นที่ภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์ของชาติ ซึ่งมีประเด็นปัญหาสำคัญทั้งในด้านนโยบาย ด้านกระบวนการ และด้านรูปแบบการพัฒนา
เครือข่ายสมัชชาแม่น้ำตระหนักถึงความสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ควรมีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่มาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่เครือข่ายสมัชชาแม่น้ำไม่ได้รับการชี้แจงใดๆจากกรุงเทพมหานครและไม่ได้รับข้อมูลเพื่อการมีส่วนร่วม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขอกราบเรียนต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เพื่อโปรดพิจารณาข้อเสนอของสมัชชาแม่น้ำตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑. และ ๓. ด้วยการออกคำสั่งตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้กรุงเทพมหานครหยุดการดำเนินโครงการสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝังแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ก่อน เพื่อมิให้มีการดำเนินการที่จะส่งผลกระทบต่อความเสียหายทั้งด้านงบประมาณ และการดำเนินการก่อสร้างที่จะมีผลกระทบเสียหายอันมิอาจเรียกคืนได้
(๒) ให้กรุงเทพมหานครจัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมกำหนดวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ แนวทางเลือกการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อนำไปสู่การทบทวนข้อกำหนดโครงการ ปรับปรุงเป้าหมาย วัตถุประสงค์ ขอบเขตการศึกษา ในข้อกำหนดการศึกษาใหม่ ซึ่งจะเป็นข้อกำหนดการศึกษาที่พัฒนามาด้วยการมีส่วนร่วม
(๓) ในกระบวนการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา ขอให้ดำเนินการด้วยการมีส่วนร่วมบูรณาการแผนและนโยบายทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา และประเมินเพื่อกำหนดทางเลือกการพัฒนาในแผนแม่บท ก่อนที่จะมีการจัดทำข้อกำหนดการสำรวจ ออกแบบรายละเอียดเพื่อการก่อสร้างและจัดทำแผนงาน โครงการ
(๔) การดำเนินการดังกล่าว ต้องจัดกระบวนการมีส่วนร่วมให้ทั่วถึง โดยมีการให้ข้อมูลแก่ประชาชน ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียอย่างเปิดเผย เพียงพอต่อการทำความเข้าใจและทั่วถึง และจัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลการศึกษาที่เข้าถึงได้ทั้งทางเอกสาร และสื่อสารสนเทศ เพื่อให้แผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแผนซึ่งมาจากการมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ เป็นการทำหน้าที่ซึ่งเคารพต่อสิทธิชุมชน สิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและการพัฒนาที่ยั่งยืน
โปรดพิจารณามีคำสั่งให้กรุงเทพมหานครหยุดโครงการการดำเนินการสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไว้เป็นการชั่วคราวไว้ก่อน จนกว่าจะได้มีการดำเนินการตามข้อเสนอทั้ง ๔ ประการข้างต้น เพื่อตอบสนองกับความต้องการที่แท้จริงของคนในพื้นที่และคนในชาติเพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของแม่น้ำอันเป็นรากเหง้าของชาติไทยสืบต่อไป
---------
-- ข้อเสนอ --
ขอให้หยุดโครงการสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดโจทย์ ทิศทางการพัฒนา ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ปัญหาการดำเนินโครงการ และข้อห่วงใยต่อผลกระทบ
(1) ด้านการไม่คุ้มครองสิทธิในข้อมูลข่าวสาร สิทธิของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน
เนื่องด้วย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 มาตรา 4
ดังนั้น ประชาชนจึงมีสิทธิตามบทบัญญัติที่เคยได้รับรองสิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียนของประชาชนและสิทธิของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึงเกี่ยวกับการที่รัฐจะจัดให้มีการดำเนินการต่างๆซึ่งอาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน บุคคลมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง เหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่นก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดเกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ดังนั้น รัฐจะต้องไม่กระทำการใดๆที่เป็นการขัดขวางการใช้สิทธิดังกล่าว และพึงส่งเสริมให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารของแผนงานหรือโครงการเพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอีกด้วย
แต่การดำเนินการของกรุงเทพมหานคร และที่ปรึกษาฯคือ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบังและมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ผ่านมา มิได้ดำเนินการให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียได้รับข้อมูล เหตุผล ขอบเขตของการจัดทำข้อกำหนดโครงการสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนการดำเนินโครงการและจัดจ้างที่ปรึกษา เพื่อที่จะมีสิทธิแสดงความคิดเห็นต่อวัตถุประสงค์ ขอบเขตการศึกษา เป้าหมาย พื้นที่ศึกษาและพื้นที่ออกแบบ เพื่อพิจารณาในการจัดทำรายการข้อกำหนดก่อนการดำเนินการโครงการว่าจ้าง มิได้มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนรับทราบและใช้สิทธิการมีส่วนร่วมดังกล่าว และมิได้มีการดำเนินการให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอในการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงในการให้ความเห็นและการตัดสินใจก่อนดำเนินการในโครงการอันเป็นแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเป็นการปฏิบัติที่ละเลยต่อการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนการดำเนินโครงการและระหว่างดำเนินโครงการ
นอกจากการจัดรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ทั่วถึงแล้ว ยังเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ข้อ 11 ที่กำหนดให้ต้องประกาศให้ประชาชนทราบถึงวิธีการรับฟังความคิดเห็น ระยะเวลา สถานที่ ตลอดจนรายละเอียดอื่นที่เพียงพอแก่การที่ประชาชนจะเข้าใจและสามารถแสดงความคิดเห็นได้ และต้องปิดประกาศไว้โดยเปิดเผยเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนเริ่มดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประชาชน และให้ประกาศในระบบเครือข่ายสารสนเทศที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดให้มีขึ้นตามระเบียบนี้ด้วย และไม่ปฏิบัติตามระเบียบฯดังกล่าวข้อ 12 ที่เมื่อดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประชาชนแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และประกาศให้ประชาชนทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เสร็จสิ้นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
(2) ด้านนโยบาย
การจัดทำแผนแม่บทฯนี้ ไม่มีการให้ข้อมูลการศึกษาวิเคราะห์นโยบายและแผนที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนดไว้ และขาดการประเมินผลกระทบระดับนโยบายต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ เนื่องด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นแม่น้ำสายสำคัญของชาติและจัดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติตามมติคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 มีนโยบายการพัฒนาหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำและพื้นที่ริมน้ำ ดังนั้น ในการศึกษาจัดทำแผนแม่บทที่จะเป็นกรอบการพัฒนาในอนาคต จึงต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับทิศทางของการพัฒนาในแผนและนโยบายด้านต่างๆ ทั้งในระดับพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ในระดับลุ่มน้ำ และในระดับชาติที่กำหนดไว้ด้วย
การพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อให้เกิดการเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เพื่อคุณภาพชีวิต ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และการก้าวสู่สังคมสูงวัยนั้น มิได้เป็นการเข้าถึงด้วยการพิจารณาเพียงด้านกายภาพในการก่อสร้างทางเพียงเท่านั้น ยังเกี่ยวข้องกับแผนและนโยบายด้านเศรษฐกิจ การเป็นพื้นที่บริการและพื้นที่ท่องเที่ยว และด้านสังคม สุขภาวะ และเชื่อมโยงกับแผน นโยบายระดับชาติ ระดับประเทศ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จำเป็นต้องนำแผนและนโยบายด้านต่างๆมาประเมินผลกระทบระดับนโยบาย ( Policy Impact Assessment) ซึ่งปัจจุบันมีหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบสุขภาพระดับนโยบาย ( Policy Health Impact Assessment) รวมทั้งการประเมินผลกระทบระดับยุทธศาสตร์ ( Strategic Environmental Assessment) ที่สามารถนำมาใช้ในการประเมินผลกระทบด้วยการมีส่วนร่วม เพื่อกำหนดทางเลือกนโยบายการพัฒนาก่อนในการจัดทำแผนแม่บทฯ และก่อนดำเนินการกำหนดกรอบแนวคิดของการพัฒนาในระดับโครงการ
(3) ด้านกระบวนการ
กระบวนการดำเนินการปรึกษาสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตามที่ที่ปรึกษาชี้แจงในการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 นั้น เป็นการดำเนินงานทั้งหมดในระยะเวลา 210 วัน ซึ่งเป็นการทำงาน 3 ส่วนคู่ขนานกันคือ งานศึกษาและจัดทำแผนแม่บท งานสำรวจรายละเอียดและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และงานประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยามีนโยบายหลายด้านที่ต้องนำมาทบทวนวิเคราะห์ ประเมินผลกระทบและประโยชน์ที่ได้รับ และหาทางเลือกอนาคตก่อนการดำเนินการออกแบบ และวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
การดำเนินการในกระบวนการคู่ขนานนี้ประชาชน ชุมชน ผู้ที่มีส่วนได้เสียไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมกำหนดทิศทาง และทางเลือกการพัฒนาในแผนแม่บทก่อน และยังไม่มีโอกาสได้รับข้อมูลใดๆเกี่ยวกับแผนแม่บท แต่ขณะเดียวกัน ที่ปรึกษาฯได้ทำการออกแบบแนวคิดและกำหนดโครงการพัฒนาเป็นแผนงานด้านต่างๆ โดยที่ไม่มีการนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้านต่างๆในพื้นที่แผนแม่บทตลอดแนวสองฝั่งแม่น้ำ ไม่มีการนำเสนอผลการสำรวจศึกษาความเหมาะสม การวิเคราะห์โครงการ และการจัดลำดับความสำคัญของโครงการในแผนแม่บทก่อน
นอกจากนี้ การดำเนินการออกแบบรายละเอียดและการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การกำหนดแนวเขตที่ดิน ก็เป็นการดำเนินการควบคู่กับการจัดทำแผนแม่บทฯ จึงไม่มีความเชื่อมโยงในทิศทางการพัฒนาในภาพรวม ประชาชน ชุมชน ผู้มีส่วนได้เสียไม่มีโอกาสให้ความเห็นในภาพรวมการพัฒนาในพื้นที่ 57 กิโลเมตรก่อน และไม่มีโอกาสได้ข้อมูลว่าการจัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นการจัดทำในเรื่องใด โครงการใด ไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อแผนแม่บททั้งหมด
การดำเนินการตามกระบวนการศึกษานี้จึงเป็นการดำเนินการที่รวบรัด โดยในหลักการจัดทำแผนแม่บทของพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญและผ่านชุมชนประวัติศาสตร์ มรดกวัฒนธรรม โบราณสถาน และสถานที่สำคัญหลายแห่ง รวมทั้งมีการเชื่อมต่อการใช้ประโยชน์ของแม่น้ำไปสู่พื้นที่อื่นนั้น ประกอบด้วยผู้ที่มีส่วนได้เสียและผู้ที่เกี่ยวข้องที่หลากหลายทั้งในกรุงเทพมหานครและลุ่มน้ำที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องมีการนำเสนอการวิเคราะห์ข้อมูล ผลการทบทวนแผนพัฒนา กฎหมาย ระเบียบ ผังเมือง ผลการสำรวจ แผนที่ เพื่อให้มีการให้ความเห็นต่อการศึกษาในเรื่องดังกล่าวก่อน เพื่อที่จะกำหนดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ แนวคิดและทางเลือกการพัฒนาพื้นที่ และมีการประเมินผลกระทบในระดับนโยบายสาธารณะทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ก่อนการดำเนินการพัฒนา
ดังนั้น นอกจากการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่อย่างเร่งรีบและรวบรัดแล้ว การออกแบบเบื้องต้น และจัดทำแผนการก่อสร้าง ก็เป็นการดำเนินการโดยที่ขาดผลจากแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่อีกด้วย
(4) ด้านการขาดการมีส่วนร่วมในแผนแม่บท
ในTOR ระบุการรับฟังความคิดเห็นที่รวมทุกกลุ่มไว้เพียง 3 ครั้ง คือ การปฐมนิเทศโครงการ และการสรุปผลโครงการ 2 ครั้ง ที่กำหนดผู้มีส่วนร่วมครั้งละไม่น้อยกว่า 200 คน ส่วนกิจกรรมการประชุมกลุ่มย่อยในชุมชนนั้นเป็นเพียงการสำรวจข้อมูล การให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลและแสดงความคิดเห็น และการสัมภาษณ์เชิงลึก
จากการจัดประชุมปฐมนิเทศ การรับฟังความคิดเห็นประชาชน และการประชุมกลุ่มย่อยในชุมชนที่ผ่านมา ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียไม่ได้รับข้อมูลก่อนการประชุมที่เพียงพอเพื่อทำความเข้าใจ
ดังนั้น จึงไม่ปรากฎว่ามีกระบวนการมีส่วนร่วมที่มีการให้ข้อมูลที่เพียงพอเพื่อการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและผู้เกี่ยวข้องในขั้นตอนการกำหนดแผนแม่บทร่วมกันก่อนการดำเนินการออกแบบรายละเอียด รูปแบบวิศวกรรมและงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาความไม่ครอบคลุม ไม่สอดคล้องและความขัดแย้งในการพัฒนาในอนาคต
แม้ที่ปรึกษาฯได้มีการลงพื้นที่เพื่อสอบถามความคิดเห็น แต่มิได้มีการให้ข้อมูลแผนแม่บทในภาพรวมทั้ง 57 กิโลเมตร มิได้ให้ข้อมูลล่วงหน้าในพื้นที่นั้นก่อนการประชุม และไม่ได้มีการส่งผลสรุปการรับฟังความเห็นในกลุ่มย่อย ตลอดจนผลการวิเคราะห์ความคิดเห็นตลอดพื้นที่โครงการ
ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวลาเกือบ 5 เดือน ตาม TOR จะต้องมีการนำเสนอแผนแม่บท การศึกษาสำรวจความเหมาะสม งานวิเคราะห์โครงการ นั้น กรุงเทพมหานครและที่ปรึกษาฯมิได้มีการนำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวในการรับฟัง แต่กลับข้ามขั้นตอนการดำเนินการเสนอการวิเคราะห์ข้อมูล และการวิเคราะห์ทบทวนแผนเพื่อรับฟังความเห็นก่อน โดยที่ปรึกษาฯนำเสนอผังแนวคิดที่ไม่ได้ผ่านการรับฟังความเห็นในการวิเคราะห์ภาพรวม และเสนอเพียงการกำหนดโครงการพัฒนาและรูปภาพการออกแบบเฉพาะบางบริเวณ แต่มิได้มีการนำเสนองานออกแบบรายละเอียดทางวิศวกรรม การสำรวจแนวเขตที่ดิน การสำรวจแนวเส้นทาง ตามที่ต้องศึกษาในTOR อีกทั้งในการจัดการรับฟังความคิดเห็น มีการปิดกั้นมิให้ผู้ที่มีความเห็นแตกต่างได้มีโอกาสนำเสนอเพื่อการแลกเปลี่ยนและได้รับคำชี้แจง จึงเป็นการศึกษาที่ขาดทั้งการมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุมสาระที่ต้องให้ความเห็น ขาดสาระที่ต้องดำเนินการตาม TOR และไม่เคารพต่อสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน
(5) ปัญหาการกำหนดแนวคิดและรูปแบบเชิงหลักการเบื้องต้นไว้ในทีโออาร์โดยที่ไม่มีการศึกษาวิเคราะห์ ไม่มีการรับฟังความเห็น
ทีโออาร์ได้ระบุงานกำหนดแนวคิดและรูปแบบเชิงหลักการไว้ในขอบเขตการศึกษาที่เป็นการตั้งเป้าหมายรูปแบบการพัฒนาไว้ล่วงหน้า อาทิ ระบุว่า “ จะต้องกำหนดให้มีช่องทางสำหรับจักรยานและทางเดินเท้าเป็นหลัก “ ซึ่งเป็นการกำหนดโดยที่ยังไม่มีการศึกษาวิเคราะห์ความต้องการและความจำเป็นที่จะต้องมีทางดังกล่าว และระบุว่า “ บริเวณใดที่ยังไม่มีการก่อสร้างเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือการกำหนดระดับการเสริมเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่แตกต่างไปจากงานศึกษาและจัดทำแผนแม่บทโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานคร จะต้องออกแบบให้ครอบคลุมงานก่อสร้างเขื่อนโดยตลอดแนวเส้นทางด้วย” เป็นต้น
นอกจากนี้ การดำเนินการสำรวจออกแบบรายละเอียดรูปแบบทางวิศวกรรม และร่างรูปแบบรายละเอียดการก่อสร้าง เป็นการดำเนินการโดยที่แผนแม่บทการพัฒนายังไม่แล้วเสร็จ จึงอาจไม่สอดคล้องและก่อให้เกิดความขัดแย้งและผลกระทบในอนาคต
ทั้งนี้ การดำเนินการงานจ้างที่ปรึกษาสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีกำหนดระยะเวลาตามสัญญา 210 วัน ซึ่งขณะนี้ผ่านมาแล้วประมาณ 150 วัน โดยที่ไม่มีการนำเสนอข้อมูลงานศึกษาจัดทำแผนแม่บท รายงานการสำรวจ การศึกษาความเหมาะสม รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นต่อสาธารณะเพื่อการมีส่วนร่วมให้ความเห็นแต่อย่างใด แต่กลับมีการจัดทำการกำหนดวิสัยทัศน์ การออกแบบกรอบแนวคิด และการจัดทำแผนโครงการ 12 ด้าน ที่จะนำไปสู่งานออกแบบรายละเอียด รายละเอียดโครงการ เอกสารการประมาณราคาก่อสร้าง( ให้ปฏิบัติเป็นเอกสารลับของราชการ) และการจัดทำพระราชกฤษฎีกาเวนคืน
ดังนั้น การดำเนินการของกรุงเทพมหานครและการทำงานของที่ปรึกษาฯ มีผลที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร การเปลี่ยนแปลงโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง รวมทั้งผลกระทบต่อทรัพยากร สิ่งแวดล้อมของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับชาติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 และผลกระทบต่อการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จึงมีผลต่อการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน
การละเลยต่อกระบวนการมีส่วนร่วมที่ทั่วถึง และการต้องให้ข้อมูลที่เพียงพอต่อการรับฟังนั้น จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการบริหารราชการอย่างมีธรรมาภิบาล ( Good Governance) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และละเลยต่อการการคุ้มครองสิทธิในข้อมูลข่าวสารของประชาชน และอาจมีผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ อย่างมิอาจเรียกคืนหรือฟื้นฟูได้ และขัดต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
---------------
ร่วมกันลงชื่อเพื่อยับยั้งการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 14 กม.ใช้สิทธิพลเมืองในการร่วมคิด ร่วมสร้างและปกป้องแม่น้ำเจ้าพระยากลับคืนมา ได้ที่ www.change.org
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
facebook page : Friends of the River FOR
info graphic video