ประเทศนี้ไม่ตีเด็ก (Ban Corporal Punishment in Thailand)
ประเทศนี้ไม่ตีเด็ก (Ban Corporal Punishment in Thailand)
ทำไมแคมเปญรณรงค์นี้ถึงมีความสำคัญ

นโยบายที่ผมต้องการเสนอวันนี้คือ .... ประเทศนี้ไม่ตีเด็ก
"ต้องไม่มีการลงโทษเด็กทางกายและการทำให้เด็กรู้สึกด้อยค่าในประเทศไทยในทุกๆ มิติ"
คำพูดจากนายอิลย่า สมิร์นอฟ ผู้อำนวยการมูลนิธิสายเด็ก 1387 ผู้มีความชำนาญด้านการทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน
ซึ่งก่อนที่ผมจะเข้าสู่รายละเอียด ของนโยบาย ผมอยากให้ประชาชนทุกคนได้รับทราบข้อมูลว่า มีเด็กไทยจำนวนมากถึงร้อยละ 79 ที่ถูกพ่อแม่ ผู้ปกครองกระทำรุนแรงทางร่างกาย และร้อยละ 16 กระทำรุนแรงทางจิตใจและทำให้รู้สึกด้อยค่า ด้วยเหตุผลในการฝึกวินัยให้กับเด็ก ซึ่งส่งผลกระทบต่อตัวเด็กโดยตรง และต่อสังคมอย่างมาก
ปัจจุบันมี 53 ประเทศทั่วโลก ที่มีกฎหมายห้ามการลงโทษทางกายและทำให้เด็กรู้สึกด้อยค่าในทุกสถานที่ สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะมีการห้ามลงโทษเด็กด้วยการตีในโรงเรียนและในกระบวนการยุติธรรมแล้ว แต่ยังไม่ได้ห้ามอย่างครอบคลุมในทุกสถานที่ เช่น ที่บ้าน สถานสงเคราะห์ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งการลงโทษทางกายและทำให้เด็กรู้สึกด้อยค่าเป็นปัญหาระดับโลก เพราะไม่เพียงทำให้เด็กเสี่ยงต่อการเกิดบาดแผลบนร่างกายและจิตใจเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กทั้งด้านร่างกาย สมอง จิตใจ อารมณ์ และสังคม และยังเป็นการละเมิดสิทธิของเด็กอีกด้วย
โดยผมขอเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมาย
มาตรา1567 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ข้อที่ 2 ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
โดยเสนอแก้ไขเป็น...
ทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน ได้ตามสมควร ทั้งนี้ต้องไม่ใช้วิธีเฆี่ยนตี ทำร้ายร่างกายจิตใจ หรือวิธีการอื่นในทำนองเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังต้องแก้ไขคำจำกัดของ “ความรุนแรง” ด้วย
โดยเสนอให้เพิ่มนิยามความรุนแรง ในพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก ให้ครอบคลุมไปถึงการลงโทษเด็กด้วยดังนี้
“ความรุนแรงต่อเด็ก” หมายความว่า การกระทำใด ๆ ต่อร่างกาย หรือจิตใจเป็นเหตุให้เกิดอันตราย จิตใจและพัฒนาการ รวมถึงการทอดทิ้ง หรือการปล่อยปละละเลย การแสวงหาผลประโยชน์ การล่วงเกินทางเพศ การใช้เด็กให้กระทำหรือประพฤติในลักษณะที่น่าจะเป็นอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจและพัฒนาการหรือขัดต่อกฎหมาย ศีลธรรมอันดี รวมถึงการกระทำโดยมิชอบ ทั้งนี้ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม โดยที่การลงโทษทางร่างกาย จิตใจ หรือการลงโทษในรูปแบบที่ไม่เคารพต่อสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถือได้ว่าเป็นความรุนแรงตามนิยามนี้
ถ้านโยบายนี้เกิดขึ้นจริง สังคมจะสงบมากขึ้น ความสัมพันธ์ในครอบครัวจะดีขึ้น เด็กจะอยู่อย่างปลอดภัยและมีความสุขมากขึ้น และมีพัฒนาการทุกด้านที่เหมาะสมตามช่วงอายุ พ่อแม่ผู้ปกครองจะรู้จักใช้การฝึกวินัยผ่านกระบวนการทางความคิด เหตุและผล มากกว่าปัจจัยภายนอก อย่างการตี หรือ ดุ ด่า โดยการสอนให้เด็กเรียนรู้ สอนให้เขามองเห็นผลกระทบอื่นๆจากกระทำผิดของเขานอกจากตัวเขาเอง ยกตัวอย่างเช่น เด็กขโมยของ ความเป็นเด็ก เขารู้แค่เพียงว่า นี่เป็นของที่เขาอยากได้ เด็กเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่หน้าที่ของผู้ใหญ่คือเมื่อเด็กทำผิดต้องสอนให้เขามองเห็นมิติของคนอื่นด้วยว่า...ไปขโมยของเขาแล้วคนอื่นจะเดือดร้อน ลำบากแค่ไหน และช่วยกันคิดหาวิธีการแก้ปัญหาร่วมกัน นั่นคือ วิธีการสอนเด็กที่ถูกต้อง ดังนั้น เด็กทุกคนไม่ควรต้องถูกลงโทษไม่ว่าจะลงโทษด้วยวิธีการใดตาม