กฎหมายรับรองเพศสภาพ

กฎหมายรับรองเพศสภาพ
“กฎหมายรับรองเพศสภาพ”
สืบเนื่องจากบุคคลข้ามเพศที่ได้รับรองจากสาธารณะสุขของโลก ระบุว่า บุคคลข้ามเพศไม่ได้มีการผิดปกติทางจิตแต่อย่างใดแต่ยังคงถูกเลือกปฏิบัติอันเป็นผลจากคำนำหน้านามอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด อีกทั้งไม่ได้รับสิทธิและหน้าที่ของเพศที่ถูกเปลี่ยนไปตามเจตจำนงค์ในการกำหนดเพศของตนเอง อาทิ การสมัครงาน การแต่งกายตามเพศสภาพ การทำเอกสารทางราชการ การเดินทางไปต่างประเทศ การเข้าที่พักกรณีการประชุมสัมมนา การได้รับฮอร์โมนเพศในเรือนจำ การเข้าใช้บริการในสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งการทำงานในฐานะนายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในกลุ่มประชากรที่มีความหลากหลายทางเพศ และดำเนินงาน ในฐานะคณะอนุกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ซึ่งอยู่ภายใต้โครงสร้างตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่าง พ.ศ. 2558 ได้พบเจอเหตุการณ์การร้องเรียนเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวข้างต้นค่อนข้างมาก จึงต้องมีการขับเคลื่อนให้มีกฎหมายรับรองเพศสภาพขึ้น เพื่อให้บุคคลข้ามเพศไม่ได้รับการตีตราและการเลือกปฏิบัติในสังคม รวมทั้งได้รับสิทธิและหน้าที่ของตนเองตามเพศที่เปลี่ยนไปตามเจตจำนงการกำหนดเพศของตนเอง เพื่อให้เกิดหลักการตามสิทธิมนุษยชนสากล
โดยการดำเนินงานดังกล่าวได้ถูกผลักดันมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2560 จากทางภาครัฐร่วมกับภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดพระราชบัญญัติรับรองเพศสภาพดังกล่าว แต่เนื่องจากมีข้อขัดแย้งกันระหว่างแนวคิดที่ว่า บุคคลที่จะต้องได้รับการรับรองเพศสภาพจะต้องเป็นบุคคลที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้ว และยังสร้างเงื่อนไข การรับรองเพศสภาพกับบุคคลที่ยังไม่ได้รับการผ่าตัดแปลงเพศ และแนวคิดที่ว่าบุคคลที่จะได้รับรองเพศสภาพได้โดยที่ไม่ต้องมีการผ่าตัดแปลงเพศ เนื่องจากบางคนอาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ ผลกระทบต่อสุขภาพ หรือประสงค์ที่จะไม่ผ่าตัดแปลงเพศแต่อย่างใด เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีข้อขัดแย้งว่าจะต้องผ่านกระบวนการวินิจฉัยของแพทย์ และต้องมีคณะกรรมการมารับรองการเปลี่ยนแปลงเพศสภาพ เป็นต้น ซึ่งจากเหตุผลข้อขัดแย้งต่าง ๆ ขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ส่งผลทำให้การส่งเสริมพระราชบัญญัติรับรองเพศสภาพในช่วงเวลานั้นได้ชะลอการดำเนินการไว้ ซึ่งจะต้องหาข้อยุติต่อไป โดยระยะเวลาการขับเคลื่อนดังกล่าวดำเนินการเนิ่นนานเป็นเวลามากกว่า 2 ปี ดังนั้นในประเด็นดังกล่าวนี้จึงควรที่จะหยิบยกเพื่อนำกลับมาผลักดันให้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในกระบวนการดำเนินงานในช่วงปัจจุบันนี้ มียุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน คือ ขับเคลื่อนเชิงรุกในการให้องค์ความรู้ต่อสังคมผ่านสื่อสารสาธารณะทุกช่องทาง และลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม จัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายขึ้นให้ชัดเจน เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาต่อไป
การรับรองเพศสภาพเป็นสิ่งที่เป็นสากลหรือไม่ แล้วทำไมประเทศไทยที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่คนข้ามเพศทั่วโลกเดินทางเข้ามาเพื่อเข้าสู่กระบวนการข้ามเพศ กลับถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จากรายงานการศึกษาของสมาคม ILGA องค์กรด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในโลก ได้เปิดเผยการศึกษากฎหมายและนโยบายระดับประเทศจากทุกภูมิภาคทั่วโลกกว่า 113 ประเทศ พบว่าสิทธิของบุคคลข้ามเพศนั้นได้รับรองตามกฎหมายในกว่า 77 ทั่วโลก และยังคงมีการผ่านกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิในสถานะทางเพศ ของบุคคลข้ามเพศอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น
· ประเทศอาร์เจนติน่า ผ่านกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ค.ศ. 2012
· ประเทศไอร์แลนด์ ผ่านกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ค.ศ. 2015
· ประเทศมัลตา ผ่านพระราชบัญญัติรับรอง อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ และ ลักษณะทางเพศสรีระของบุคคล ค.ศ.2015
· ประเทศนอร์เวย์ ผ่านกฎหมายแก้ไขเพศสภาพ ค.ศ. 2016
· ประเทศเบลเยี่ยม ผ่านกฎหมายรับรองเพศศภาพ ค.ศ.2017
· ประเทศโปรตุเกส ล่าสุดที่ผ่านกฎหมายอัตลักษณ์ทางเพศ ค.ศ.2018
การมี พ.ร.บ.รับรองเพศสภาพของบุคคล พ.ศ. ...
จะเป็นกฎหมายสำคัญที่ทำให้การรับรอง “สถานะบุคคล” ตามกฎหมายนั้นบริบูรณ์ ดังนั้นเพื่อเป็นการรับรองสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยมีพันธกรณีตามกฎหมายและกติการะหว่างประเทศร่างกฎหมายฉบับนี้จะถูกยกร่างขึ้นบนหลักการพื้นฐาน
· การเป็นอิสระจากการเลือกปฏิบัติ (Freedom from Discrimination)
· ความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย (Equality Before Law)
· การระบุเพศด้วยตนเอง (Self-identification) และสิทธิในความเป็นส่วนบุคคล (Right to Privacy)
· ไม่ผูกกับข้อกำหนดทางการแพทย์ (De-pathologisation)