ไทยทำ ไทยขาย ไทยกำหนดราคา

ไทยทำ ไทยขาย ไทยกำหนดราคา
ชาวสวนยางทำ ชาวสวนยางขาย ชาวสวนยางกำหนดราคา
และเฉลี่ยแบ่งปันด้วยความเป็นธรรม
ให้รัฐบาลส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางผลิตยางล้อ
"ยางพารา" ถือเป็นพืชที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีเนื้อที่ปลูกยางพาราประมาณ 23 ล้านไร่ ซึ่งสามารถผลิตยางธรรมชาติได้ 4.4 ล้านตันต่อปี
แต่ปัจจุบัน อุตสาหกรรมยางพารามีปัญหาหลายประการ ยางพาราเป็นสินค้าที่ต้องพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นหลัก โดยยางพาราที่ผลิตได้ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางจากโรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเพียงแค่ 14% เท่านั้นส่วนที่เหลืออีก 86% ถูกส่งออกในรูปของยางที่เป็นวัตถุดิบ
และด้วยเหตุที่โครงสร้างตลาดยางพาราเป็นแบบผู้ซื้อผู้ส่งออกมีอยู่น้อยราย ในขณะที่มีผู้ผลิตมีจำนวนมาก ส่งผลทำให้ผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองและการกำหนดเก็งกำไรเหนือกว่าผู้ขาย แบบครอบครองผูกขาด ในขณะเดียวกันกับที่ราคายางพาราที่ซื้อขายกันในตลาดโลกยังถูกกำหนดซื้อขายแบบตลาดล่วงหน้า ซึ่งกว่า 90% เป็นการเก็งกำไร เช่นด้วยวิธีกักเก็บสต๊อกเพื่อปั่นราคา การระบายสินค้าสินค้าเพื่อทุบราคาตลาด ส่งผลทำให้ราคายางพารามีความผันผวน. และถูกควบคุมกำหนดโดยผู้ค้าคนกลางเพียงไม่กี่รายที่ค่อนข้างสร้างกำไรได้มากมายมหาศาล
นอกจากนั้นราคายางพารายังได้ถูกผูกยึดและอ้างอิงจากผลกระทบของราคายางสังเคราะห์ซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้ทดแทนยางธรรมชาติ เช่นในเมื่อราคาน้ำมันดิบซึ่งเป็นวัตถุดิบทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ จะถูกนำมา เป็นสาเหตว่าทำให้ราคายางสังเคราะห์ปรับตัวลดลงตามไปด้วย ซึ่งผู้ผลิตอาจจะหันไปใช้ยางสังเคราะห์แทนยางธรรมชาติเพื่อลดต้นทุน ซึ่งมีผลทำให้เป็นข้อกล่าวอ้างถึงการตกต่ำลงของราคายางธรรมชาติจนทำให้ผลผลิตยางพาราของเกษตรกรชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อน และออกมาสะท้อนปัญหาหรือขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ให้หาวิธีแก้ไขแบบยั่งยืนเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับความเป็นอยู่ของชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง
ซึ่งในการแก้ปัญหาหากจะมองให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น จึงอยากให้ภาครัฐ ผลักดันให้เกษตรกรได้มีโอกาสร่วมลงทุนลงหุ้นในการผลิตล้อยางและใช้ยางรณรงค์การใช้ผลิตภัณฑ์ของตัวเองในเบื้องต้น การรณรงค์ให้ใช้ในหน่วยงานของรัฐ และ สนับสนุนจัดตั้งศูนย์การจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ยางพาราในแหล่งต่างๆ
นอกจากนี้เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
จึงขอเสนอให้ รัฐบาลสนับสนุนส่งเสริม ให้เกษตรกรชาวสวนยางถือหุ้นและร่วมเป็นเจ้าของประกอบกิจการโรงงานผู้ผลิตยางล้อ ซึ่งเป็นนิติบุคคลในรูปแบบเช่น กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ หรือวิสาหกิจฯ โดยยึดหลัก "ชาวสวนยางทำ ชาวสวนยางขาย ชาวสวนยางกำหนดราคาและเฉลี่ยแบ่งปันด้วยความเป็นธรรม"
เพราะอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางล้อจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราแล้ว ยังสามารถสร้างงาน และกระจายรายได้ให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำจนถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำ
อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางล้อของไทยนั้นน่าจะมีทิศทางที่ดี ทั้งปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางล้อของไทย ปริมาณการผลิตรถยนต์ เพราะปริมาณรถยนต์จดทะเบียน ภายในประเทศ มีทิศทางและแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากสถิติปริมาณรถยนต์ที่จดทะเบียน ภายในประเทศ ทำให้ประมาณการณ์ได้ว่าจะมีความต้องการยางล้อไม่น้อยกว่า 125 ล้านเส้นต่อปี ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางล้อ ในอนาคต
ซึ่งหากรัฐบาลส่งเสริมสนับสนุนให้ “เกษตรกรชาวสวนยางเป็นเจ้าของผู้ผลิตยางล้อ” โดยเน้นให้ชาวสวนยางเป็นสมาชิก ก็จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน แทนที่รัฐจะนำเงินมาจ่ายค่าชดเชยให้กับเกษตรกร ก็นำมาสร้างเป็นกลุมเกษตรกร สหกรณ์ หรือวิสาหกิจ ที่ทำอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา โดยเริ่มจากผลิตภัณฑ์ ยางล้อรถจักรยาน และ จักรยานยนต์ รถใช้งานในการเกษตร ซึ่งต่อไปอาจพัฒนาศักยภาพสู่การผลิตยางล้อรถยนต์ รวมถึงการส่งออกต่อไปในอนาคตได้