ยกเลิกการบังคับใส่ชุดนักศึกษา

ยกเลิกการบังคับใส่ชุดนักศึกษา
ทำไมแคมเปญรณรงค์นี้ถึงมีความสำคัญ
การแต่งกายเป็นสิทธิพื้นฐานและไม่ควรที่จะต้องมาบังคับกัน
การแต่งกายเป็นสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ เป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่หากการแต่งกายของบุคคลหนึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น น่าจะเกิดจากอคติส่วนตัวที่เกิดจากค่านิยมทางสังคมบางอย่าง ซึ่งไม่ควรใช้เป็นบรรทัดฐานชี้ความถูกผิดหรือนำมาสร้างเป็นกฎที่ขัดกับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล
มีสถานศึกษาหลายแห่ง ทั้งในและต่างประเทศที่ไม่ได้กำหนดให้นักศึกษาแต่งกายด้วยเครื่องแบบ อย่างเช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองก็ไม่ได้มีการบังคับ ซึ่งก็สามารถจัดการเรียนการสอน ได้อย่างเรียบร้อยดี นอกจากนี้เองการแต่งการของนักศึกษายังถูกจำกัดโดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 388 มิให้มีลักษณะเปลือย เปิดเผยร่างกาย หรือ ลามก อันควรขายหน้าต่อธารกำนัลอยู่แล้ว มหาวิทยาลัยจึงไม่จำเป็นต้องกำหนดหรือจำกัดการเลือกเครื่องแต่งกายของนักศึกษาเพิ่มเติม นักศึกษาทั่วประเทศควรได้รับสิทธิพื้นฐานดังกล่าวโดยทั่วกัน
ทั้งนี้ในกรณีของ สภานักศึกษามหาวิทยาลัยศูนย์รังสิตเอง ได้มีการขอให้ยกเลิกการบังคับให้นักศึกษาแต่งกายด้วยเครื่องแบบ เนื่องจากว่าในทางปฏิบัติยังพบว่ามีอาจารย์ผู้สอนบางวิชายังคงบังคับให้นักศึกษาแต่งกายด้วยเครื่องแบบเข้าห้องเรียนวิชาของตน สภานักศึกษาเห็นว่าการกําหนดให้นักศึกษาแต่งกายด้วยเครื่องแบบในงานพิธีและการสอบกลางภาคและปลายภาคดังกล่าวสร้างภาระให้นักศึกษาต้องเสียค่าใช้จ่ายซื้อชุดเครื่องแบบนักศึกษาเพิ่ม ทั้งที่มิได้ใช้ในชีวิตประจําวัน และ มักเป็นเหตุให้นักศึกษาเข้าห้องสอบล่าช้าหรือมิได้เข้าห้องสอบ อีกทั้งเป็นการจํากัดเสรีภาพในการเลือกเครื่องแต่งกายของนักศึกษาเกินควร
จึงอยากขอเรียกร้องให้ ยกเลิกการบังคับใส่ชุดนักศึกษาทั่วประเทศ
1. สร้างความเสมอภาค เท่าเทียม
-แทนที่จะพยายามสร้างความเท่าเทียมที่เป็นไปไม่ได้ เราน่าจะสอนเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างแตกต่างมากกว่า รวยจนแค่ไหน ก็อยู่ร่วมกันได้โดยให้เกียรติกันและกัน เครื่องแบบไม่ช่วยอะไร ตราต่างกันก็เหยียดได้ถ้าจะทำ
-เวลาที่เรามักจะพูดถึงความเท่าเทียม อาจจะพูดถึงเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย ซึ่งจริงๆต่อให้ใส่เครื่องแบบนักศึกษา ก็ยังมีสิ่งอื่นที่แสดงถึงความแตกต่างได้อยู่ดี(ในทางวัตถุ) เช่น นาฬิกาข้อมือ สร้อยคอ หรืออื่นๆ
-หากแต่แค่ชุดนักศึกษา จะทำให้สังคมดูเท่าเทียม หากนั่นเป็นเจตนารม ของการตั้งกฏเพื่อบังคับการใส่ชุดนักศึกษานั้น เห็นทีเราคงจะต้องออกกฎในเรื่องการใช้ ยานพาหนะ กระเป๋า หรือสิ่งของต่างๆด้วยเช่นกัน
2. ลดการเปรียบเทียบ
-คล้ายๆ ข้อแรก ที่สำคัญคือ ลดการเปรียบเทียบได้จริงไหมเราไม่รู้ บทความนี้ไม่มีงานวิจัยที่แสดงผลที่ชัดเจนมาให้ดู
-หลายคนมักอาจจะมองว่าประหยัด เท่าเทียม เพื่อลดการเปรียบเทียบ เพราะทุกคนใส่ชุดที่เป็นชุดลงมาหมด ปัญหาอยู่ที่ว่า ทุกคนมองว่าเราอาจจะแต่งตัวสูงอยู่ที่จาก 6 เต็ม 10 แล้วลดลงมาเหลือ 4 เท่ากันทุกคน หากแต่ความเป็นจริง ยังมีคนอีกมาก ที่จำเป็นจะต้องซื้อเครื่องแบบ จากที่ไม่มีเลย 1 ต้องปรับให้มาเป็น 4 เท่ากันกับทุกคน
3. มีเวลาสำหรับการเรียนมากขึ้น
- เป็นไปได้หากนักศึกษาไม่ได้สนใจเรื่องการแต่งตัวจริงๆ แบบสตีฟ จ็อบส์ หรือไอสไตน์ ที่ใส่ชุดคล้ายๆ กันทุกวัน แต่นั่นเพราะพวกเขาตกผลึกทางความคิดแล้วแต่เด็กวัยรุ่นไม่ใช่แบบนั้น พวกเขาจะพยายามหาตัวตนของตนเอง หาความเป็นปัจเจก เมื่อความต้องการกับระเบียบสวนทางกัน ผลคือ พวกเขาก็แอบทำอยู่ดี เช่น ในบางงานที่เป็นงานพิธี (ตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการแต่งกายนักศึกษา 2549) ได้ระบุว่า นักศึกษาชาย จำต้องสวมใส่รองเท้าหนังสีดำ แต่ก็ยังมีการใส่รองเท้าผ้าใบทั่วไปอยู่ดี
4. ทำให้ดูเรียบร้อย
- นิยามความเรียบร้อยคืออะไร ถ้าแต่งไปเวทแต่นั่งตั้งใจฟัง กับชุดนักศึกษาคุยกันเสียงดัง แบบไหนเป็นประโยชน์มากกว่า แล้วแปลว่าปัญหาของการเรียนไม่ได้อยู่ที่เสื้อผ้าหรือเปล่า ถ้าแต่งกายด้วยชุดนักศึกษาเป็นการแสดงความเรียบร้อย แต่งไปเวทก็เป็นการแสดงความสร้างสรรค์และอาจทำให้ครูมีปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษามากขึ้น แต่งตัวดีก็ชื่นชม ตลกก็ฮาได้ ถ้าเห็นว่าแต่งตัวแย่จริงๆ ครูก็มีหน้าที่ตักเตือนแนะนำ มันจะต่างจากชุดนักนักศึกษา ซึ่งจะทำให้เหลือเพียงการจ้องจับผิดว่าตรงไหนผิดระเบียบ แต่ถ้านัดกันแต่งสีลูกกวาดทั้งห้อง แสดงว่าต้องมีอีเวนท์อะไรสักอย่างแล้วล่ะ
-หลายคนอาจจะบอกว่าการใส่ชุดนักศึกษานั้นเรียบร้อยกว่า
-ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการแต่งกายนักศึกษา พ.ศ.2549 ระบุไว้ว่า ในงานนักศึกษาทั่วไป นักศึกษาหญิง ต้องใส่กระโปรงที่สั้นไม่เกินกว่า 5 เซนติเมตรจากหัวเข่า โดยไม่ได้ระบุประเภทของกระโปรงไว้ กระนั้นเองสามารถอนุมานได้ว่าสามารถใส่กระโปรงพีท ที่สูงกว่าเข่าได้ ตามความยาวที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นคำถามต่อว่า การแต่งกายที่ถูกระเบียบที่มหาลัยกำหนดเช่นนั้น เรียบร้อยกว่าการใส่กางเกงยีนส์ขายาวที่ผิดระเบียบ
5. ประหยัด
-ชุดนักศึกษาแพงมาก จะดีกว่าไหมถ้าเราใส่ชุดไปรเวทไปเรียนได้ แล้วก็ยังเป็นชุดอยู่บ้าน ชุดไปเที่ยวในตัวเดียวกัน ประหยัดกว่ากันนะ
-เครื่องแบบนักศึกษาไม่ได้มีการอุดหนุนช่วยจ่ายเหมือนกันกับชุดนักเรียน ถึงต่อให้เป็นชุดนักเรียน สำหรับบางครอบครัวก็ยากที่จะซื้อ เพราะการช่วยแค่ 500 บาทต่อปีการศึกษานั้น อาจจะไม่เพียงพอต่อการซื้อเครื่องแบบในปีนั้น
6. สร้างความภาคภูมิใจในสถานศึกษา
-แอบหวั่นว่ามันจะทำให้เรายึดติดกับสถาบันมากไปหรือเปล่า
-ความภูมิใจในสถาบันเป็นสิ่งหนึ่งที่ดูไปดูมาอาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างความแตกแยกในสังคมของหลายๆ ใฝ่ความรู้ หมั่นศึกษาเรื่องต่างๆ หรือทำหน้าที่อื่นๆในฐานะสถาบัน ร่วมด้วยกับดราม่าต่างๆของสังคมเพราะการยึดติดกับสถาบัน
-และยังทำให้เล็งเห็นถึงปัญหาในสังคมที่ความแตกต่างกันของสถาบันนั้นแสดงถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้เห็นได้แม้แต่ในระดับมัธยมด้วยซ้ำ
-ชุดนักศึกษาเมื่อใส่ไปแล้วจะบ่งบอกสถานะทางสังคมว่า ฉันนี่แหละนักศึกษา นักล่าปริญญาในเครื่องแบบ และพร้อมที่จะผันตัวเองไปเป็นปัญญาชนในอนาคต แต่ถ้าเรามองในอีกมุมก็คือ ชุดนักศึกษานี่แหละที่เป็นตัวการร้ายในการแบ่งแยกชนชั้นเลย เพราะมันเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการที่จะแยกตัวเองออกมาจากคนไร้การศึกษา คุณพระ !!! นี่ชุดนักศึกษาเป็นกำแพงที่แบ่งเขตระหว่างนักศึกษามหาวิทยาลัย กับ คนที่ไม่ใช่นักศึกษาหรือนี่ ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วมันจะไม่เป็นการแบ่งแยกชนชั้นทางสังคมอย่างนั้นหรือขอรับ
7. บ่งบอกสถานภาพ ชัดเจน
-บัตรนักศึกษา หรือ REG.TU ที่ต้องเปิดเพื่อยืนยันตนตอนเข้าห้องสมุดก็ดี หรือศกร. ก็ดี นั้น เป็นสิ่งที่สามารถยืนยันและบ่งบอกสถานภาพของนักศึกษาโดยไม่ต้องใส่ชุดนักศึกษาก็ได้
-บ่งบอกแน่นอน แต่ชุดนักศึกษาไม่น่าทำให้ตระหนักว่าต้องเรียน เพราะเราไปโรงเรียนก็เรียนๆเล่นๆ บ้างก็หลับ ไม่ได้ช่วยให้อยากเรียน ข้อดีคงเป็นช่วยให้จับได้ง่ายว่าใครโดดเรียนออกมา
-หากการสวมใส่ชุดนักศึกษาเป็นการตระหนักถึงหน้าที่ของตนเองตลอดเวลาว่าตนนั้น เป็นนักศึกษาต้องนักศึกษา อาจมองได้ความเป็นความคิดที่ผิดเพี้ยน เพราะตามความจริง ณ การประชุมสภานักศึกษาแห่งนี้ ท่านๆทุกคนมาทำงานในด้านต่างๆด้วยความเชื่อบางอย่างว่าอะไรในมหาวิทยาลัยนี้จะได้รับการพัฒนา และสิ่งเหล่านั้นล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดี หากแต่มันไม่ได้เกิดจากการที่ท่านใส่ชุดนักศึกษาเลย ลองย้อนมององค์ประชุมวันนี้ (ผมเชื่อว่าเค้าไม่ใส่กันอะนะ)
8. ได้ส่วนลด
-สามารถใช้กรณีข้อก่อนหน้าเกี่ยวกับด้านการยืนยันตนเพื่อรับส่วนลดได้ โดยไม่จำเป็นต้องสวมใส่ชุดนักศึกษา
9. ใส่เป็นชุดทางการได้
-จริง ที่ฟังก์ชั่นการใช้งานของชุดนักศึกษานั้น เป็นไปเพื่อการแต่งตัวให้เป็นทางการ เป็นเหตุผลที่ดี หากแต่มีอีกหลายชุด ที่สามารถแต่งกายให้เป็นทางการได้ หากเราศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการแต่งกายจริงๆ
-และหากใช้เหตุผลนี้ จักสามารถอนุมานได้ว่า การไปเรียนในคลาสต่างๆ ถือเป็นโอกาสที่เป็นทางการซะหมด ทำให้อนุมานต่อได้อีกว่า การเข้าห้องเรียนนั้นหาได้ใช่วาระธรรมดาทั่วไป
10.ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง การแต่งกายที่ถือว่าเป็นการใช้เสรีภาพเกินกว่าขอบเขตอันเหมาะสม
-ประกาศนี้ หลายท่านอาจจะเป็นกังวลว่า หากยกเลิกไป การแต่งกายของนักศึกษาที่เป็นการใช้เสรีภาพเกินสมควรนั้นจะกลับมา หากแต่อย่าได้รีบเป็นกังวลไป ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 388 ผู้ใดกระทำการอันควรขายหน้าต่อธารกำนัลโดยเปลือยหรือเปิดเผยร่างกายหรือกระทำการลามกอย่างอื่น เป็นกฎหมาย ที่รอรับการกระทำที่มิสมควรนั้นอยู่แล้ว
-การยกเลิกประกาศดังกล่าว ยังช่วยให้ความซับซ้อนในการยกเลิกการบังคับใส่ชุดนักศึกษานั้นง่ายลงไปอีก
11.เรื่องอื่นที่สำคัญอีกเยอะแยะ ไฉนใยจึงพัวพัน วุ่นวายแต่กับชุดนักศึกษา
-อาจเป็นเรื่องที่พูดแล้วหลายท่านเข้าใจยาก เพราะจริงๆแล้วมันเป็นปัญหาที่ใหญ่มากๆ สำหรับมหาลัยที่ขึ้นชื่อได้ว่า มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว บลาๆๆ และเรื่องชุดนั้นเองก็กระทบกับเรื่องของเสรีภาพ และสิทธิบนร่างกายของตัวบุคคล
-สามารถมองในมุมมองของรัฐศาสตร์ได้ว่า มีเรื่องของอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องนั้นคือ การบังคับใส่ชุดนักศึกษานั้นเป็นการต่อสู้ทางความคิดระหว่าง “ผู้ที่มีอำนาจในการออกกฎให้ปฏิบัติ” และ “ผู้ที่รู้สิทธิในการตัดสินใจต่อตัวเอง”
-จากข้อข้างต้น จะชวนให้คิดต่อได้ว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเรา สู้กับอำนาจต่างๆ ซึ่ง ณ ที่นี้เราพูดถึง ผู้ที่มีอำนาจในการออกกฎให้ปฏิบัติ หลายท่านอาจจะคำนึงถึงว่า การปฏิบัติตามกฎหมายนั้นเป็นเรื่องที่ดี อาจจะถูกแต่หาได้ใช่ทั้งหมด เพราะเราไม่สามารถคิดได้ว่า “กฎทุกกฎเป็นกฎที่ดี” และหากมีกฎที่ไม่ดี เราก็ควรล้มมันไป ล้มสัญลักษณ์เชิงอำนาจ ของความพยายามที่จะทำให้นักศึกษาเชื่อง
เราอยู่ในมหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อเรื่องของสิทธิและเสรีภาพ การบังคับใส่ชุดนักศึกษานั้นอาจจะเป็นการไม่เหมาะสมในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ (อาจเหมารวมที่อื่นได้ด้วย) และเหตุผลต่างๆในการอ้างเพื่อเป็นการสวมใส่ชุดนักศึกษาโดยชอบธรรมนั้น มีความขัดแย้ง ย้อนแย้งในตัว เช่น ความเท่าเทียม แต่กลับมีการแบ่งแยกชนชั้นในนั้นเหตุผลเดียวที่จะทำให้ผมเห็นควรว่าจำเป็นต้องบังคับใส่คือ ความน่ารักของนักศึกษา
มหาวิทยาลัยคือสถานที่ฝึกให้คนเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่ทำให้เป็นเด็กต่อไปอีก 4 ปี
มหาวิทยาลัยต้องฝึกนักศึกษาให้คิดเป็น เพื่อจะได้มีสติปัญญาในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในสังคม จะฝึกให้คิดก็ต้องให้คิดเองโดยเฉพาะเรื่องของตัวเอง เริ่มจากเรื่องแรกเลยก็คือ จะต้องแต่งตัวอย่างไรมาเรียน ??