ขอศาลยืนเคียงข้างประชาชน พิจารณาคดีการเมืองตามหลักรัฐธรรมนูญ

ขอศาลยืนเคียงข้างประชาชน พิจารณาคดีการเมืองตามหลักรัฐธรรมนูญ

มีผู้สนับสนุน 0 คน ขออีกให้ถึง 25,000 คน!
หากถึง25,000รายชื่อแคมเปญนี้จะเป็นหนึ่งในแคมเปญที่มีคนที่ลงชื่อมากที่สุดบน Change.org
เธมิส . ได้สร้างแคมเปญรณรงค์นี้ร้องเรียน ประธานศาลฎีกา

ถึงผู้ที่ลงชื่อสนับสนุนในแคมเปญ Change.org/FreeOurFriends2022

ทุกคนคงเห็นข่าว ตะวัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม อรวรรณ ภู่พงษ์ เพื่อนของเราที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ซึ่งทั้งสองได้ยื่นขอถอนประกันตัวตัวเองไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตอนนี้ ยังอยู่ในเรือนจำ ประกาศอดน้ำและอาหาร อาการอยู่ในภาวะวิกฤต

 

ทั้งตะวันและแบมได้ประกาศ 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ 

1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

2. หยุดดำเนินคดีกับประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง 

3. พรรคการเมืองทุกพรรคเสนอนโยบาย ยกเลิก มาตรา 112 และมาตรา 116

 

เราขอยืนหยัดเคียงข้างตะวันและแบม 

ขอเชิญชวนทุกคนร่วมกันลงชื่อสนับสนุนทั้ง 3 ข้อเรียกร้องนี้ที่ Change.org/3Commands

ขอศาลยืนหยัดข้างประชาชน พิจารณาคดีการเมืองตามหลักรัฐธรรมนูญ

จากสถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 มีการตั้งข้อหากับนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยมาตรา 112 แล้วกว่า 194 คน หนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนที่มีอายุเพียง 12 ปี  หลายๆ คนเป็นเพียงนักศึกษา ที่มีความใฝ่รู้ทางการเมือง มีความคิดเห็นที่แตกต่าง มีการตั้งคำถามไปยังผู้มีอำนาจ แต่ขณะนี้พวกเขาเหล่านั้นกลับต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ สถานการณ์นี้ชวนให้เราตั้งคำถามกลับไปยังต้นทางแห่งความยุติธรรมอย่างองค์กรศาลหรือผู้พิพากษา ที่ควรเป็นที่พึ่งให้ประชาชนและรักษาความยุติธรรม ดังนี้

ผู้พิพากษากำลังใช้ดุลยพินิจตามกรอบกฎหมายหรือไม่?  

รัฐธรรมนูญจำกัดการควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหา ให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้มีการหลบหนี  ผู้ต้องหาทุกคนมีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ปล่อยเป็นหลัก-ขังเป็นข้อยกเว้น  ซึ่งเป็นหลักแม่บทในเรื่องการประกันตัวผู้ต้องหาในทุกคดี จากสถิติถ้าเป็นคดีอื่นประเทศไทยใช้หลักการนี้เป็นส่วนใหญ่  โดยให้ประกันตัวถึง 90% ของคดีทั้งหมด (ดูได้ที่  http://ucl.or.th/?p=4024 การให้ประกันตัวในคดีข่มขืนของนายปริญญ์ ภาณิชภักดิ์ เกิดขึ้นได้เพราะเจ้าหน้าที่ใช้หลักการนี้เช่นกัน  แต่หากเป็นคดีเกี่ยวกับ ม.112 กลับมักไม่เป็นไปตามหลักการดังกล่าว 

เหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดีหลายครั้งชวนให้เราตั้งคำถาม  เช่นการพิจารณาไต่สวนถอนประกันคดีของ ‘ตะวัน ตัวตุลานนท์’ ซึ่งถูกตั้งข้อกล่าวหาเนื่องจากคำพูดที่กล่าวถึงผลกระทบของขบวนเสด็จกับม็อบชาวนาแต่ในการไต่ส่วนผู้พิพากษากลับหยิบยกเรื่องการสวมเสื้อดำของตะวันมาเป็นหนึ่งในเหตุผลของการฝากขังต่อ   กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดีว่า

“หลายคนอาจอยู่ในห้องที่ถอนประกันตะวันวันนั้น และได้ยินคำพูดที่ทำให้ผมอยากลาออกจากการเป็นนักกฎหมาย ตำรวจไม่ได้ถอนประกันตะวันเรื่องการใส่เสื้อดำ ศาลก็ไปหาเอกสารมา บอกว่าวันนั้นคุณใส่เสื้อดำ วันที่ในหลวงเสด็จฯ ไอ้ตะวันก็เหวอเลย ผมก็งงว่าผิดอะไรใส่เสื้อดำ แก(ผู้พิพากษา) บอกว่า ‘หากคุณใส่เสื้อดำไปร่วมงานแต่งงาน เขาจะให้คุณเข้างานไหม เขาคงไม่ให้คุณเข้างานหรอก เพราะมันไม่ปกติ’”  

เพื่อนของเราถูกตั้งข้อหาว่าทำความผิดเพียงเพราะตั้งคำถามต่อเหตุการณ์บ้านเมือง เพื่อนของเราไม่ได้ทำร้ายใคร และไม่มีใครจะหลบหนี  หลายคนยังต้องเรียนหนังสือ บางคนมีภาระที่ต้องส่งเสียเลี้ยงดูครอบครัว หรือสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงต้องได้รับการรักษาตัว นักกฎหมายควรยึดหลักการและปกป้องหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนและยึดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว

ผู้พิพากษาควรเป็นอิสระต่อไปหรือไม่หากไม่อาจรักษาหลักความอิสระ ?

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้แบ่งแยกอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ของศาลให้เป็นอิสระจากคณะรัฐมนตรี และสภา ศาลจึงไม่อยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของคณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐ ขณะที่หลายประเทศมีระบบตรวจสอบผู้พิพากษา ท่านควรใช้อำนาจที่ท่านมีความอิสระนี้กำกับดูแลการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ  เมื่อตำรวจตั้งข้อหาใดๆ ศาลต้องไม่เชื่อหลักฐานฝ่ายเดียวของตำรวจ แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับประชาชน ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้มีอำนาจ

ในการพิจารณาการไต่สวนค้านฝากขัง ‘ตะวัน  ตัวตุลานนท์’ ครั้งหนึ่ง ตำรวจกล่าวว่าได้ทำสำนวนคดีเสร็จแล้วและรายงานต่อผู้บังคับบัญชาแล้ว อีกทั้งยังกล่าวว่า “แม้ไม่ขังผู้ต้องหาไว้ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสำนวนคดี” แต่ยังคงต้องการฝากขังต่อ เมื่อตะวันถามว่ามีเหตุผลใดที่จะต้องขอฝากขังตนต่อไปอีก แล้วยังขอเผื่อเวลาอีกด้วย และตะวันยังได้พูดอีกว่า “ขอเหตุผลที่มีน้ำหนักกว่านี้จะได้หรือไม่” ตำรวจตอบว่า “ไม่ทราบว่าผู้บังคับบัญชาจะพิจารณาสำนวนแล้วเสร็จเมื่อใด” และตามที่เราทราบดีว่าศาลสั่งฝากขังตะวันต่อด้วยเหตุนั้น

การทำหน้าที่ของศาลในการปกป้องสิทธิประชาชนนั้นแสดงออกได้โดยผ่านคำพิพากษา จึงจะสมควรแก่ความอิสระที่ท่านได้รับ มิเช่นนั้นเราคงต้องขอตั้งคำถาม หรือเราควรต้องมีระบบตรวจสอบศาลอย่างเคร่งครัดมากกว่านี้ เช่นเดียวกับที่ระบบอื่นๆ ในสังคมถูกตรวจสอบ

ข้อเรียกร้อง

ศาลเป็นส่วนสำคัญในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน แต่ในเวลานี้เราในฐานะประชาชนมองว่าศาลยังไม่ได้คุ้มครองประชาชนตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ ในยามที่องค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยหน่วยอื่นลุแก่อำนาจ ศาลต้องทำหน้าที่เป็นที่พึ่งและแก้ไขความบกพร่องของเสาหลักอื่น  เราจึงขอเรียกร้องต่อประธานศาลฎีกา ดังนี้

  1. ขอให้ท่านยืนหยัดนำพาเหล่าผู้พิพากษาในการคุ้มครองสิทธิประชาชนให้เห็นเป็นประจักษ์อย่างกล้าหาญ เคียงข้างประชาชน
  2. ขอให้ศาลปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย การกระทำของท่านจะได้รับการเป็นประวัติศาสตร์ของประชาชน และเป็นประวัติศาสตร์ของสถาบันตุลาการต่อไป
     
มีผู้สนับสนุน 0 คน ขออีกให้ถึง 25,000 คน!
หากถึง25,000รายชื่อแคมเปญนี้จะเป็นหนึ่งในแคมเปญที่มีคนที่ลงชื่อมากที่สุดบน Change.org